10 สีปัสสาวะบอกโรค
26 ก.ย. 2021

วันนี้สรรหามาชวนเพื่อน ๆ สังเกตสีปัสสาวะของตัวเองกัน เพราะสัญญาณเตือนโรคร้ายต่าง ๆ ก็มาในรูปแบบของการขับของเสียใกล้ตัวที่ร่างกายของเราขับออกมาทุกวัน อย่างเช่นปัสสาวะที่บางทีอาจจะมีสี กลิ่น ความขุ่นแตกต่างกันออกไป ซึ่งปัสสาวะของเราสามารถเปลี่ยนไปตามยา อาหารเสริม อาหารที่เราทาน แต่ถ้าปัสสาวะมีสีแตกต่างไปจากเดิมล่ะ จะบ่งบอกถึงอาการของโรคอะไรได้บ้าง วันนี้สรรหามีคำตอบค่ะ

10 สีปัสสาวะบอกโรค

สีของปัสสาวะ

1. สีใส ไม่มีสี

ปกติแล้วถ้าเรามีปัสสาวะสีใสนั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเราดื่มน้ำในแต่ละวันมากกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการ ทั้งนี้มีสูตรคำนวณปริมาณการดื่มน้ำที่ร่างกายเราควรได้รับ โดยนำน้ำหนักตัว x 2.2 x 30/2 =ปริมาณน้ำที่ควรดื่มต่อวัน เช่น 47 x 2.2 x 30/2 = 1,551 เราจึงควรดื่มน้ำขวด 1.5 ลิตร ต่อวัน เพราะเป็นปริมาณที่พอเหมาะสำหรับร่างกายคนที่น้ำหนักเท่านี้ ซึ่งปัสสาวะของเราจะเป็นสีใสได้แต่ต้องไม่บ่อยจนเกินไป เพราะการที่ปัสสาวะออกมาเป็นสีใสประจำแม้ว่าดื่มน้ำน้อย อาจจะเป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน โรคไต หรือเกิดจากการกินยาขับปัสสาวะก็เป็นได้

2. สีขาวขุ่น

พบได้ในคนที่ดื่มนมในปริมาณมาก ทำให้ร่างกายเกิดผลึกของฟอสเฟตหรือเกิดจากโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ รวมถึงการมีน้ำเหลืองปนอยู่นใปัสสาวะ การมีโปรตีนมากเกินไปในร่างกาย และเป็นสัญญาณของโรคกรวยไตอักเสบ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้อีกด้วย

3. สีเหลือง

  • สีเหลืองอ่อน

        เป็นสีของปัสสาวะปกติ

  • สีเหลืองเข้ม

        เกิดจากการดื่มน้ำน้อย แก้ปัญหาได้ด้วยการดื่มให้เยอะมากขึ้น

  • สีเหลืองสด

         เกิดจากการทานวิตามิน อาหารเสริมมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ทำให้ขับออกมาในรูปแบบของปัสสาวะ ซึ่งก่อนทานวิตามินสามารถปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเพื่อสอบถามปริมาณของวิตามินที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน

4. สีส้ม

เป็นสัญญาณที่บอกว่าร่างกายขาดน้ำ และอาจเกิดจากการทานแคร์รอต การทานวิตามินบี 2 ปริมาณมาก มักพบในนม ถั่ว ปลา ไข่ ผักใบเขียว ธัญพืช มะเขือเทศ เนื้อ ยีสต์ อับมอนด์ และตับ ทั้งนี้ปัสสาวะสีส้มสามารถบ่งบอกได้เกี่ยวกับปัญหาในถุงน้ำดี และเกิดจากการทานยาบางชนิด เช่น ยาซัลฟาซาลาซีนเป็นส่วนประกอบระหว่างยาฆ่าเชื้อและยาต้านการอักเสบบางชนิด ยาไอโซไนอาซิดที่เป็นยาปฏิชีวนะช่วยในการหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ยาระบายบางชนิด ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

5. สีส้มเข้ม สีน้ำตาล

เกิดจากการขาดน้ำรุนแรงที่อาจนำไปสู่มีภาวะกล้ามเนื้อสลาย  หรือเป็นสัญญาณของโรคดีซ่าน ทั้งนี้การทานยาบางชนิดก็สามารถทำให้ร่างกายขับปัสสาวะออกมาเป็นสีน้ำตาลได้ เช่น ยาควีนินที่ใช้ป้องกันโรคมาลาเรีย ยาเมโทรนิดาโซล(Metronidazole) ที่ต้องใช้ในการควบคุมของแพทย์เท่านั้น

6. สีน้ำตาลเข้ม สีดำ

เป็นสัญญาณของโรคบางชนิด เช่น โรคตับ โรคมะเร็งผิวหนัง หรือเกิดจากผลข้างเคียงของการทานยาบางชนิด เช่น ยาควีนินที่ใช้ป้องกันโรคไข้มาลาเรีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังเกิดได้จากอาหารที่ทานในปริมาณมาก เช่น ถั่วบางชนิด ว่านหางจระเข้ ถ้าหากทานน้ำว่านหางจระเข้หรือทานสด ๆ ในปริมาณมาก อาจทำให้มีอาการท้องเสียเพราะร่างกายมีสารอโลอิน (aloin) มากเกินไป  และผักรูบาร์บ ซึ่งใบของผักชนิดนี้มีกรดซาลิกสูงที่ทำให้เกิดสารออกซาเลต หากทานในปริมาณมากอาจเกิดการสะสมและทำให้เป็นพิษในที่สุด ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลโดยตรงต่อระบบทางดินอาหารทำให้อาเจียน ท้องร่วง อาจทำให้เป็นโรคนิ่วและไตวายได้ 

7. สีชมพู สีแดง

ใครที่มีปัสสาวะสีชมพูค่อนไปทางแดงจาง ๆ ถึงแดงเข้ม นั้นเป็นสัญญาณว่าอาจมีการติดเชื้อในกะเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ เป็นโรคนิ่ว โรคไต รวมถึงเป็นมะเร็งในไตได้ พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และกลุ่มวัยรุ่นที่สูบบุหรี่จัด ทั้งนี้การทานอาหารบางชนิดสามารถในปริมาณมาก เช่น กระเจี๊ยบแดง บีทรูท บลูเบอร์รี เป็นต้น แต่ถึงอย่างไรหากมีปัสสาวะปนเลือดควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุก่อนลุกลามเป็นโรคร้าย

8. สีเขียว

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ และเกิดจากการทานผักบางชนิด เช่น หน่อไม่ฝรั่ง (ผักแอสพารากัส) ที่ทำให้ปัสสาวะมีสีเขียวและมีกลิ่น การทานอาหารที่มีส่วนประกอบของสีผสมอาหารสีเขียว

9. สีฟ้า

อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดจากผลข้างเคียงของการทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า Amitriptyline ยาระงับความรู้สึก (Propofol) ที่ต้องใช้ภายใต้ความดูแลของแพทย์เท่านั้น นอกจากนี้ยังเกิดจากโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิกที่ทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงกว่าปกติ (familial hypercalcemia)

10. สีม่วง

มักพบในผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะนานจนติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ เรียกว่าปัสสาวะในถุงเป็นสีม่วง (Purple Urine Bag Syndrome) เกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างแบคทีเรียกับถุงระบายน้ำปัสสาวะที่เป็นถุงพลาสติก

กลิ่นของปัสสาวะ

กลิ่นของปัสสาวะ

ปัสสาวะที่ขับออกมาใหม่ ๆ กลิ่นจะไม่แรง แต่ถ้าตั้งทิ้งไว้หนึ่งคืนจะมีกลิ่นแอมโมเนียแทน ทั้งนี้กลิ่นปัสสาวะสามารถแปรผันได้ตามอาหารที่เราทาน เช่น กาแฟ ยา วิตามินบางชนิด หรือการดื่มน้ำน้อยก็ทำให้เกิดกลิ่นฉุนได้ เพราะปริมาณน้ำน้อยแต่ของเสียที่ถูกขับออกมากับปัสสาวะหนาแน่นขึ้น ทั้งนี้หากปัสสาวะมีกลิ่นและมีอาการปวดแสบขณะขับปัสสาวะควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา

ความขุ่นของปัสสาวะ

นอกจากสีและกลิ่นของปัสสาวะที่ควรสังเกต ความขุ่นก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งทีควรสังเกตควบคู่กัน เนื่องจากความขุ่นของปัสสาวะสามารถเกิดได้จากการทานอาหารและยาบางชนิด ที่ทำให้เกิดการตกตะกอนในกะเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ นอกจากนี้หากปัสสาวะมีสีขุ่นขาวคล้ายน้ำนม เป็นปัสสาวะที่มีน้ำเหลืองหรือไขมันปน มักมีปัญหาเกี่ยวกับไต และเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน เป็นต้น

ปัญหาเกี่ยวกับปัสสาวะส่วนมากมักเกี่ยวข้องกับไต กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ดังนั้นเราจึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับร่างกาย หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ทำให้ไตทำงานหนัก เช่น ชา กาแฟ อาหารรสจัด อาหารแปรรูป และการปรุงอาหารรสจัดจ้าน เพื่อถนอมไตของเราให้แข็งแรงและเป็นการหลีกเลี่ยงโรคร้ายต่าง ๆ 

 



ผู้เขียน :

fashionista คืองานหลัก content editor คืองานรอง
Momint

fashionista คืองานหลัก content editor คืองานรอง

ออกแบบกราฟิก :

จริงๆ ชื่อ แจ้ ไม่ได้ชื่ออ้อม
แจ้

จริงๆ ชื่อ แจ้ ไม่ได้ชื่ออ้อม