12 ข้อคิดจาก Squid Game (เล่น ลุ้น ตาย)
25 ก.ย. 2021

12 ข้อคิดจาก Squid Game (เล่น ลุ้น ตาย)

ข้ามไปยัง..

Squid Game เป็นผลงานของผู้กำกับมากฝีมืออย่าง ฮวังดงฮยอก ที่ใช้เวลาประกอบสร้างนานกว่า 10 ปี ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้น่าติดตาม ประกอบกับพล็อตเรื่องที่แปลกใหม่ จับทางยาก ทันทีที่เปิดให้ชมทาง netflix  ก็ทะยานขึ้นติดอันดับ 1 ทันที ซึ่งมีข้อคิดและมุมมองที่น่าสนใจ และต่อไปนี้สรรหาจะเริ่มแอบสปอยเนื้อหาแล้วนะ (เตือนแล้วนะเพื่อน ๆ )

เรียกได้ว่าเป็นซีรีส์ที่เดินเรื่องไปกับความจนตรอกของมนุษย์โดยล้อไปกับระบบทุนนิยมที่ให้ภาพของความเหลื่อมล้ำชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อชีวิตเดินมาจนสุดหนทางมองไม่เห็นทางออก เราจึงได้เห็นตัวละครที่ความหลากหลายทางพื้นฐานของครอบครัวที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ “เงินรางวัล” เปรียบได้กับชีวิตคนในปัจจุบันได้ดีเลยทีเดียว สำหรับชีวิตในโลกทุนนิยมที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้เรามีเป้าหมายเป็นอื่น 

Squid Game

จากเกมเด็กเล่นสู่ชีวิตในทุนนิยม

สะท้อนมุมมองของชีวิตมนุษย์ในภาพกว้างได้อย่างชัดเจน ชีวิตในวัยเด็กของเราไร้เดียงสาและมีความฝันยิ่งใหญ่ ผลประโยชน์เล็กน้อยที่ขัดแย้งกันอาจจะเป็นการเล่นเกมแพ้ แบ่งขนมไม่เท่ากัน แต่ชีวิตวัยผู้ใหญ่ในโลกทุนนิยมทำให้หลาย ๆ คนถูกหลอมความคิดให้มองว่าเงินเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ความเหลื่อมล้ำของชีวิตจริงบีบบังคับให้สภาพความเป็นอยู่เหมือนนรกบนดิน คุณค่าของชีวิตจึงกลายเป็นฝุ่น ห่วงโซ่ของเงินตราและอำนาจกลายเป็นวังวนของการกลืนกินไม่จบสิ้น และในซีรีส์ยังสะท้อนให้เห็นภาพของการพนันที่มนุษย์ชอบเล่นเพื่อความสนุก ความเสี่ยงเป็นรสชาติของความท้าทายในชีวิต ทั้งการเสี่ยงโชค เสี่ยงดวง เสี่ยงชีวิต ซึ่งปกติเราจะเห็นการเล่นพนันกับสัตว์มากกว่า เหมือนที่ กีฮุน ชอบเล่นพนันม้า แต่กลับกันหากมนุษย์เป็นผู้ถูกกระทำเยี่ยงสัตว์บ้าง เราจะรู้สึกยังไง...   

 Squid Game

12 ข้อคิดจาก Squid Game

1. ชนชั้นกลางที่พยายามดีดตัวเองไปที่สูงโดยยอมทำทุกวิถีทาง

เป็นหนึ่งสิ่งที่ซีรีส์ต้องการถ่ายทอดออกมา ทำให้เราเห็นว่าความจนและความเหลื่อมล้ำมันน่ากลัว ความจนพรากโอกาสในชีวิตของคนมากมาย ดังนั้นหนทางที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเราก็คือการมีเงินมหาศาล ที่มีทำให้เราหลุดพ้นจากวงจรชีวิตเดิม ๆ

2. คอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกวงการ

เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุก ๆ วงการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูขัดแย้งเมื่อในซีรีส์ของการนำเสนอความเท่าเทียมของผู้เข้าแข่งขัน แต่เมื่อมีการคอร์รัปชั่นในวงการ กลับไม่มีใครออกมาพูด เพราะทุกคนได้ผลประโยชน์กันถ้วนหน้า 

3. เราทุกคนล้วนตกเป็นทาสของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผู้มีอำนาจสูงสุดก็เช่นกัน

จากในเรื่องเราจะเห็นว่า ฟรอนต์แมน ดูเป็นคนที่มีอำนาจควบคุมและตัดสินใจทำทุกอย่างในเกม แต่ขณะเดียวกันเขาก็ตกอยู่ใต้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และตกอยู่ใต้อำนาจของกลุ่มวีไอพีที่หลงระเริงไปกับการเสพความตายของมนุษย์

4. บนโลกที่เราบอกว่าเท่าเทียม แต่ต้นทุนชีวิตไม่เคยเท่ากัน

แม้ฟรอนต์แมนจะเน้นย้ำเรื่องความเท่าเทียมของผู้เท่าแข่งขัน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไม่มีความเท่าเทียมปรากฎให้เราเห็นอย่างเด่นชัด เพราะในชีวิตจริงเราก็มักจะเลือกสัญชาตญาณความอยู่รอดมากกว่าอยู่แล้ว อีกนัยหนึ่งซีรีส์ก็สื่อให้เห็นถึงต้นทุนในชีวิตที่ทุกคนมีไม่เท่ากันนั่นเอง

5. กลโกงบางทีก็มาในคราบของคนแสนดี 

เราไม่ทางรู้ได้เลยว่าคนแสนดีตรงหน้าของเราจะหักหลังเราได้เมื่อไหร่ เพราะภาพลักษณ์ที่ดูดี ใจดี ฉลาด หรือภาพที่สร้างขึ้นมาให้เราหลงเชื่อ วางใจ จนบางครั้งเราก็ตกเป็นเหยื่อของคนดีจนเกินแก้ไข

6. การโหยหาการเป็นที่ยอมรับไม่มีวันจบสิ้น

เห็นได้ชัดมากเพราะบางทีตัวเราเองก็เผลอเป็นคนที่อยากได้รับการยอมรับจากคนอื่นจนหลงลืมจุดยืนของตัวเอง ทำให้เราตกตะกอนได้ว่าหากเราอยากให้ใครสักคนหนึ่งยอมรับในตัวเรา เราก็คงอยากให้เขายอมรับในสิ่งที่เราเป็นมากกว่าการยอมรับในความเป็นอื่นที่เราสร้างมาชั่วคราว

7. คนที่แสดงว่ารู้ดีไปหมด แต่ไม่รู้อะไร

เป็นอีกกลวิธีในการเอาตัวรอดของมนุษย์ที่ซีรีส์แสดงให้เห็นผ่านตัวละคร เป็นการประกาศว่าตัวเองมีข้อดีเพื่อปกปิดข้อบกพร่องที่เว้าแหว่งในจิตใจ

8. การเอาชนะด้านมืดของตัวเองเป็นเรื่องยาก 

เมื่อถึงนาทีที่ทุกคนต้องเลือกระหว่างความอยู่รอดกับความถูกต้อง แน่นอนว่าเราต้องเลือกตัวเองเกินกว่าครึ่ง เพราะท้ายที่สุดทุกคนก็รักตัวเองมาก ๆ มากเกินกว่าจะเอาชนะด้านมืดที่ครอบงำตัวเรา ซีนนี้ต้องบอกเลยว่าบ่อน้ำตาแตกจนท่วมห้อง 😭

9.ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่แข็งแกร่งที่สุด แต่เป็นคนที่ยอมรับและซื่อสัตย์ในตัวเอง

ยิ่งสถานการณ์บีบคั้นมากเท่าไหร่ สัญชาตญาณของมนุษย์ยิ่งต้องแสดงด้านที่แข็งแกร่งเพื่อห่อหุ้มด้านที่อ่อนแอของตนเอง เห็นได้ชัดจากตัวละคร “ด็อกซู” ที่แข็งแกร่งและโดดเด่นกว่าใคร แต่ขณะเดียวกันเราก็เห็นตัวละครอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีภาพลักษณ์แข็งแรง องอาจ แต่เขาเหล่านั้นยอมรับและซื่อสัตย์ในความสามารถ สภาพของตนเอง และนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นแรงผลักดันในเกมต่อต่อ ๆ ไป  

10.อย่าตัดสินคนที่ภายนอก

แม้ข้อนี้จะเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนรู้ดีกันอยู่แล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในซีรีส์ทำออกได้กลมกล่อม แต่หักมุมสุด ๆ แม้แต่คนที่เราวางใจที่สุดบางทีอาจจะไม่ใช่คนที่เราเคยรู้จักก็เป็นได้

11. เป้าหมายไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด หากเราหลงลืมคนเคียงข้างระหว่างทาง

แม้สุดท้ายจะมีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว แต่ทุกความรู้สึกที่กีฮุนแบกรับมาตลอดการแข่งขันก็ทำให้เราเห็นได้ว่า เงินไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด ทำให้เราเห็นว่าการใช้เงินจะมีสีสันได้อย่างไร หากปราศจากคนรัก เพื่อน ครอบครัว ทำให้เราสัมผัสได้ว่าคนรอบข้างต่างหากที่ทำให้ชีวิตมีสีสันมากกว่าเงินก้อนใหญ่ที่พ่วงมาพร้อมกับความโดดเดี่ยว

12. ความสัมพันธ์เป็นเรื่องซับซ้อน

ทำให้เห็นชัดถึงความสัมพันธ์ในสังคมทุนนิยม หลายคนมองหาผลประโยชน์ ข้อแลกเปลี่ยน มากกว่าความสัมพันธ์แบบจริงใจ ขณะเดียวกันเราก็มักจะมองหาที่พักพิง การรวมกลุ่ม เพื่อความอุ่นใจและเป็นหนึ่งเดียวกัน

ถือเป็นอีกหนึ่งซีรีส์ในช่วงปลายปีที่น่าดูก่อนหมดปี 2021 เพราะทำให้เราได้กลับมาคิดอะไรอะไรได้มากมาย เป็นสิ่งที่ Squid Game ฝากไว้ในใจหลาย ๆ คน ซึ่งสรรหาก็ต้องขอเตือนไว้ก่อนว่ามีฉากกระทบกระเทือนใจ ช่วงตึงเครียดเยอะ ใครใจไม่แข็ง ไม่ชอบฉากที่มีเลือดเยอะ ก็ต้องระวัง ๆ หน่อยน้า  เพราะค่อนข้างส่งผลกระทบต่อจิตใจเลยทีเดียว

 



ผู้เขียน :

fashionista คืองานหลัก content editor คืองานรอง
Momint

fashionista คืองานหลัก content editor คืองานรอง

ออกแบบกราฟิก :

จริงๆ ชื่อ แจ้ ไม่ได้ชื่ออ้อม
แจ้

จริงๆ ชื่อ แจ้ ไม่ได้ชื่ออ้อม