7 เกล็ดความรู้จากหนังคังคุไบ
ไม่มีใครไม่รู้จักคังคุไบที่ถูกรับบทโดย อาเรีย บาเลีย บาตต์ โสเภณีที่ทรงอิทธิพลจากหนังที่กำลังเป็นกระแสใน Netflix ตอนนี้อย่าง “คังคุไบหรือหญิงแกร่งแห่งมุมไบ” อยากบอกว่าตอนนี้เป็นกระแสที่กำลังฮิตมากจริง ๆ จนเกิด “ส่าหรีฟีเวอร์” ขึ้นมา
แต่เมื่อได้ตั้งใจดูแล้วเราก็อาจจะเกิดคำถามมากมายว่าทำไม วันนี้สรรหาถึงรวบรวมเกล็ดความรู้ในหนังเรื่องคังคุไบมาให้แล้ว
1. คังคุไบเป็นเรื่องจริงหรือไม่?
หนังดัดแปลงมาจากหนังสือเรื่อง Mafia Queens of Mumbai โดย ฮุสเซนไซดี เป็นหนังสือนวนิยายเชิงสารคดี ที่เขียนมาจากเรื่องราวชีวิตจริงของ คังคุไบ กฐิยาวาที โสเภณีผู้เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีแห่งอินเดีย ซึ่งในหนังสือและในหนังมีแก่นหลักหลัก ๆ คล้ายกันแต่ในหนังอาจถูกดัดแปลงเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มอรรถรสให้ผู้ชมหรือเปลี่ยนรายละเอียดเล็กน้อยเพื่อให้ชื่อไม่ขึ้นตรงกับบุคคลจริง
2. ครอบครองรถเบนต์ลีย์
คังคุไบเป็นคนเดียวในกามธิปุริที่ได้ครอบครองรถยนต์ยี่ห้อ “เบนต์ลีย์" (Bentley)ในช่วงทศวรรษ 1960
3. จุดสีแดงตรงหน้าผากคืออะไร?
คนอินเดียบางคนก็เรียกจุดสีแดงว่า Bindi(บินดิ), Tilak(ติลัก), Kumkum(กุมกุม) หรือ Bottu(บอตู) อยู่ที่ภูมิภาคนั้น ๆ ตามหลักศาสนาฮินดู จะต้องตื่นมาอาบน้ำแล้วนั่งสมาธิ เพื่อระลึกถึงเป้าหมายในชีวิต แต่คนก็ไม่มีเวลามากนัก ก็เลยใช้วิธีแปะบินดิไว้ที่หน้าผาก เพื่อระลึกถึง และวิธีที่จะระลึกถึงเป้าหมายได้ดีที่สุดก็คือการมองไปที่บินดิของผู้อื่นด้วยค่ะ จะได้ไม่หลงลืมเป้าหมายในชีวิต
ซึ่งบินดิจะใช้ “ผงวิภูติ” เอามาแต้มซึ่งเป็นผงที่ทำมาจากมูลของวัว (วัวเป็นสัตว์ของเทพ)
ความเชื่อของอินเดียเหนือจะเชื่อว่าผู้หญิงคนนี้แต่งงานแล้ว
ความเชื่อของอินเดียใต้สามารถแต้มได้ทั้งแต่งงานและยังไม่แต่งงานเป็นสัญลักษณ์ของความสว่างไสวทางปัญญา บินดินั้นจะมีขนาดใหญ่ขึ้นตามอายุอีกด้วย
4. รอยสักบนหน้าหมายถึงอะไร?
รอยสักบนหน้าคังคุไบมาจากธรรมเนียมของ “รัฐคุชราต” บริเวณนี้จะมีชนเผ่า “ราบาลิส” อาศัยอยู่ซึ่งธรรมเนียมของชนเผ่านี้จะต้องสักบนร่างกายอย่างน้อย 1 จุด เช่น คอ ใบหน้า แขนขา เพราะมีความเชื่อว่า รอยสักเป็นเหมือนเครื่องประดับกาย และมีอีกความหมายคือความอุดมสมบูรณ์
“เมื่อเราเสียชีวิตเราจะไม่สามารถเอาเครื่องประดับ หรือของมีค่าอะไรไปได้ แต่ถ้าหากเราสักลงบนร่างกายรอยสักนี้ก็จะตามเราไปในโลกหลังความตายด้วย”
“ถ้ามีเด็กเกิดใหม่มีรอยสักอยู่ตำแหน่งเดียวกัน ที่เดียวกันกับคนที่เสียชีวิต เขาก็จะเชื่อว่าบุคคลที่เสียชีวิตไปกลับชาติมาเกิดใหม่”
5. ทำไมคังคุไบใส่แต่สาหรีสีขาว?
“สีขาว” ที่เราเข้าใจกันก็คือความบริสุทธิ์ สะอาด อ่อนโยน เรียบง่าย อ่อนเยาว์ ซึ่งยังมีอีกหลากหลายความหมายเลยค่ะ ส่วนใหญ่จะมีความหมายเชิงบวก
เมื่อคังดุไบได้สวมชุดสีขาวครั้งแรก ก็เลยมีความหมายว่าเธอไม่ใช่คนเดิมคนเก่าอีกต่อไป เธอคือคังดุไบคนใหม่ที่สง่างาม บริสุทธิ์ (ไม่รับแขกให้มัวหมอง)
6. แล้ว “สีขาว” เกี่ยวกับการเมืองยังไง?
เนื่องจากในภาพยนตร์คังดุไบได้ผันตัวไปเป็นนักการเมือง ก็เลยต้องการสื่อสารภาพลักษณ์ที่สง่า เจิดจรัส สร้างภาพลักษณ์ใหม่ ก็เลยสวมชุดส่าหรีสีขาว เพื่อแสดงว่าตนนั้นเป็นคนดี และยุติธรรม
และในยุคอดีต “สีขาว” ยังเป็นชุดที่นักการเมืองอินเดียชื่นชอบและนิยมใส่ ทำให้กลายเป็นภาพจำว่า ใครที่สวมชุดส่าหรีสีขาวคือนักการเมือง
7. ทำไมคังคุไบต้องเทชาลงบนจานรองแก้วแล้วค่อยดื่ม?
เมื่อก่อนอังกฤษมีอิทธิพลและครองเมืองอินเดีย เลยมีกฎข้อหนึ่งขึ้นมาคือ ห้ามชาวอินเดียดื่มชาจากถ้วยเหมือนชาวอังกฤษแต่ให้ดื่มจากจานรองถ้วยชาแทนโดยมองว่าชาวอินเดียที่เป็นเมืองอณานิคมนั้นต้อยต่ำกว่าตนเอง บางคนก็บอกว่าช่วยให้ชาที่ดื่มนั้นเย็นเร็วขึ้น
แต่จากในหนัง คังคุจากดื่มชาจากจานรองแทนเพื่อเป็นการให้เกียรติและเป็นการเจียมตนและเพื่อไม่ให้คนที่จะนำถ้วยชานั้นไปใช้ต่อเกิดความรังเกียจนั่นเอง
กระแสของภาพยนตร์เรื่อง Gangubai Kathiawadi สร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างอย่างมาก เพราะหลายคนที่ไม่เคยได้รับชมภาพยนตร์อินเดียมาก่อนมักเข้าใจว่าหนังอินเดียจะต้องมีแต่การร้องระบำ เต้น และฉากแอคชั่นอลังการยาวนานเพียงอย่างเดียว แต่ที่จริงแล้ววงการบอลลีวูดมีภาพยนตร์น้ำดีให้แง่คิดอีกมากมาย จึงอาจพูดได้ว่าคังคุไบคืออีกหนึ่งก้าวสำคัญของวงการหนังอินเดีย ที่ชวนแฟนต่างประเทศให้เปิดประตูเปิดใจมารับชมกันมากขึ้น
แท็ก :
ผู้เขียน :
ชีวิตไม่มีอะไรเเน่นอน ขนาดซีอิ๊วขาวยังเป็นสีดำ
ออกแบบกราฟิก :
i'm b'fern