รู้เท่าทัน 5 ปัญหาสุขภาพจิต
23 ก.ย. 2021

ชาวสรรหาเคยสังเกตความรู้สึก อารมณ์ของตัวเองกันมั้ยคะ ว่าช่วงไหนที่เราอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ช่วงไหนมีอารมณ์อ่อนไหวเป็นพิเศษ หรือช่วงไหนกระวนกระวายจนทำให้นอนไม่หลับ อาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ปล่อยให้ผ่านไปแล้วเดี๋ยวความรู้สึกของเราจะกลับมาสดใสเหมือนเดิม สรรหาจะขอบอกไว้ก่อนเลยว่า...หยุดก่อน! หยุดพักและสังเกตความรู้สึกของตัวเอง เพื่อที่เราจะได้รู้วิธีรับมือ และรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง วันนี้สรรหาเลยอยากให้เพื่อน ๆ ลองสังเกตตัวเองผ่านบทความนี้ค่า

อาการไวต่อความรู้สึก (HSP)

HSP ย่อมาจาก Highly Sensitive Person เป็นอาการที่ตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวไวกว่าผู้อื่นทั้งรูป รส กลิ่น เสียง เช่น ดูหนังแล้วร้องไห้หนักมาก อินจนเข้าถึงความรู้สึกของตัวละคร การได้ยินเสียงไวกว่าคนอื่น มีอาการกระวนกระวายเมื่อได้ยินเสียงดัง

อาการไวต่อความรู้สึก (HSP)
 

สาเหตุ

เป็นอาการที่สามารถถ่ายทอดผ่านได้ทางพันธุกรรม ทำให้คนที่มีอาการ HSP มีสาทสัมผัสไวและละเอียดอ่อน ทำให้เข้าถึงความรู้สึกของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง เช่น ความรู้สึกสูญเสียของตัวละคร การดูคลิปสัตว์เสียชีวิตแล้วหดหู่ ร้องไห้ หรือการมีสิ่งต่าง ๆ มากระทบจิตใจ การกดดัน สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ ทำให้จิตใจของคนที่มีอาการ HSP ย่ำแย่ลง และเสี่ยงต่อการเกิดเป็นโรคซึมเศร้า โรคเครียดได้ ถึงแม้แพทย์จะบอกว่าอาการในลักษณะนี้ไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่เราก็ต้องมีวิธีรับมือกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

อาการ

1. ตอบสนองทางอารมณ์เร็ว

บ่อยครั้งที่เวลาเราดูหนัง ละคร แล้วเรามักจะร้องไห้ตาม แต่อาการของ HSP จะรู้สึกมากกว่า อาจจะร้องไห้ฟูมฟายจนตาบวม เพราะเรารู้สึกเข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกของตัวละคร ในบางรายอาจจะคิดเกินตัวบทของละคร แต่เป็นเรื่องของชนชั้น โครงสร้างทางสังคมที่ละครถ่ายทอดออกมาแล้วเรารู้สึกเข้าถึงมากกว่าคนอื่น

2. ประสาทสัมผัสไว

บางรายจะตอบสนองต่อเสียงไว เช่น เสียงเปิดประตูหน้าบ้านระยะไกล ทั้ง ๆ ที่นั่งอยู่ในบ้าน อาการขนลุกทั้งตัวเมื่อตื่นเต้น อารมณ์หงุดหงิด เสียสมาธิเมื่อถูกจับจ้อง หรือมีคนนั่งอยู่ข้างหลัง

3. หวั่นไหวง่ายต่อสิ่งเร้า

ลักษณะนี้มักจะส่งผลต่ออารมณ์โดยตรงเห็นได้จากหน้าฟีดของโซเชียล ที่มักมีเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ทั้งความสุข ความเศร้า ความโกรธ การสูญเสีย ซึ่งคนที่มีอาการ HSP มักจะหวั่นไหวง่าย ทำให้เปิดการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทางอารมณ์ เช่น หน้าฟีดมีคลิปสูญเสียคนรัก ถัดไปเป็นคลิปตลกมีความสุข ทำให้เราต้องสลับอารมณ์ไปมาซึ่งอาจส่งผลเสียต่อความมั่นคงทางอารมณ์ได้

4. วนเวียนกับความคิด คิดลึก 

เป็นคนคิดมาก ชอบคิดแบบมองเห็นภาพรวม พยายามคิดอย่างรอบคอบ ซึ่งส่งผลให้เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำได้ เพราะชอบคิดหาทางออกของปัญหาหลายทาง 

การรักษา

เนื่องจากอาการ HSP ไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวช จึงไม่มียารักษา แต่เราสามารถปรับพฤติกรรมได้ ด้วยการรู้เท่าทันตัวเอง หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าทางอารมณ์ ลดการใช้เวลากับหน้าจอ และใช้ชีวิตให้ช้าลงเพื่อให้เรารู้ทันอารมณ์และความรู้สึก 

แต่ถึงอย่างไร อาการ HSP ก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย เพราะข้อดีของอาการนี้คือการที่เราเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ดี อีกทั้งยังมีความสามารถพิเศษในการรับรู้ความรู้สึกและประสาทสัมผัสที่ละเอียดอ่อนกว่าคนอื่น สามารถชื่นชมความงามต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง และสามารถมองเห็นข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนอื่นมองไม่เห็น และมีความคิดสร้างสรรค์สูง

 

โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)

เป็นอาการที่มักจะคิดสิ่งนั้นซ้ำ ๆ และทำซ้ำ ๆ เช่น ชอบคิดว่าลืมปิดน้ำปิดไฟ ทำให้ต้องกลับมาเช็คว่าปิดน้ำปิดไฟ ก่อนออกจากห้องหรือยัง มักมีความคิดวนในหัวกลัวว่าจะลืมของสำคัญก่อนออกจากบ้านทำให้เสียเวลากับการตรวจเช็คกระเป๋า ซึ่งในบางรายเลือกที่จะแก้ปัญหาความรู้สึกนี้ด้วยการถ่ายรูปหลังจากปิดน้ำปิดไฟเพื่อเป็นหลักฐานว่าทำสิ่งนั้นไปแล้ว

โรคย้ำคิดย้ำทำ

สาเหตุ

เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองและระบบประสาท ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ สมองส่วน Orbitofrontal, Cingulate Cortex, Caudate และ Thalamus หรือเกิดความผิดปกติของสารเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ควบคุมภาวะอารมณ์ความรู้สึก และเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบจิตใจ เช่น ปัญหาชีวิตที่ความรุนแรง การลืมทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วมีผลลัพธ์ร้ายแรงทำให้ฝังใจ 

อาการ

ในบางรายมักมีความคิดว่าสิ่งของรอบตัวสกปรก เช่น ลูกบิด โต๊ะทำงาน โทรศัพท์ มือของตัวเอง ทำให้ล้างมือบ่อย ทำความสะอาดสิ่งของรอบตัวบ่อย ๆ หรือมักจัดของให้เป็นระเบียบเสมอ ซึ่งบางรายชอบจัดของให้หันไปในทิศทางเดียวกัน บางรายมีอาการหงุดหงิดไม่สบายเมื่อต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่คิดว่าไม่สะอาด หรือพบกับสิ่งของที่ไม่เป็นระเบียบ

การรักษา

รักษาด้วยยา บางรายอาจต้องใช้วิธีบำบัดรักษา 

 

อาการหลอนกลิ่น (Phantosmia)

เป็นการผิดปกติเกี่ยวกับการได้รับกลิ่น หรืออาการหลอนกลิ่น ที่ทำให้เราได้กลิ่นเหม็นที่ไม่มีอยู่จริง ซึ่งกลิ่นที่ผู้ป่วยมักได้กลิ่นมากที่สุดคือ กลิ่นยางไหม้ กลิ่นควันบุหรี่ กลิ่นแอมโมเนีย และกลิ่นเหม็นเน่าของบูดเสีย ในบางรายก็มักได้กลิ่นหอมของน้ำยาปรับผ้านุ่ม กลิ่นที่นอนที่พึ่งซักใหม่ ๆ เป็นต้น

อาการ Phantosmia

สาเหตุ

การได้กลิ่นนี้มักจะเกี่ยวโยงกับปัญหาสุขภาพในโพรงจมูกและช่องปาก เช่น ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน มีติ่งเนื้อในจมูก รวมถึงการเป็นหวัดคัดจมูก ที่ทำให้เราได้กลิ่นแปลก ๆ 

อาการ

มักจะได้กลิ่นไม่พึงประสงค์ในระยะใกล้ ซึ่งสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ที่มีอาการนี้ เพราะบางรายมักจะสืบหาต้นตอของกลิ่นแต่ก็ไม่ทราบว่ากลิ่นมาจากไหน อีกทั้งยังสร้างความวิตกกังวัลเพราะกลิ่นนั้นไม่มีอยู่จริง ทำให้เกิดการหลอนกลิ่น

การรักษา

การรักษาเบื้องต้นคือการทำความสะอาดจมูกด้วยน้ำเกลือ และหากยังไม่ดีขึ้นให้รีบพบคุณหมอเพื่อหาทางรักษาต่อไป

 

โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง

หรือ Body Dysmorphic Disorder เป็นความรู้สึกไม่พึงพอใจในรูปร่างหน้าตาตนเองมากกว่าปกติ มักนำตนเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น และหมกหมุ่นกับความสวยความงามของตนเองมากกว่า 3-8 ชั่วโมง  มีพฤติกรรมชอบส่องกระจกบ่อย ๆ และถามบุคคลรอบข้างบ่อยครั้งเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของตนเอง

โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง

สาเหตุ

เกิดจากสังคมรอบข้างของผู้ป่วยที่มักเปรียบเทียบทำให้ผู้ป่วยไม่มั่นใจในตนเอง รวมถึงบรรทัดฐานความงามของสังคมไทย (beauty standard) ที่สื่อต่าง ๆ มักเผยภาพลักษณ์ที่ดูดี สมบูรณ์แบบ ทำให้ผู้เสพสื่อเกิดความไม่มั่นใจในตนเอง และนำไปสู่การโทษตัวเองและไม่พอใจในรูปร่างหน้าตา 

อาการ

ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายมักจะชอบสำรวจความเรียบร้อยของตนเอง หรือติดการส่องกระจกมากกว่า 3- 8 ชั่วโมงต่อวัน และมักไม่มีความมั่นใจในรูปร่างและหน้าตาของตนเอง มีความคิดหมกมุ่นกับการทำศัลยกรรมเพื่อทำให้ตนเองสวยขึ้นมากกว่าปกติ อาจจะคิดหนักทั้งวันทั้งคืนจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน มีการทำศัลยกรรมซ้ำเพื่อปรับแก้ให้ดีขึ้นกว่าเดิมจนเสพติดศัลยกรรม

การรักษา

แพทย์จะดูแลรักษาตามอาการ ให้คำแนะนำตามความเหมาะสม ทั้งนี้บุคคลรอบข้างต้องเป็นกำลังใจที่ดีและไม่บั่นทอนจิตใจ

 

โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง

หรือ Imposter Syndrome เป็นความรู้สึกที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่คู่ควรกับการได้รับคำชม ไม่สมควรได้รับความรักดี ๆ และมักคิดว่าคนอื่นมาชมเพราะบังเอิญว่าเราทำได้ หรือชมเพียงผ่าน ๆ ซึ่งการไม่เห็นคุณค่าในตนเองแบบนี้อาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้

โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง

สาเหตุ

อาการในลักษณะนี้มักสืบเนื่องมาจากวัยเด็กที่ไม่ค่อยได้รับคำชม ทำให้ทำตัวไม่ถูกเมื่อถูกชม ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดในบุคคลที่ประสบความสำเร็จ เช่น นักวิชาการ นักศึกษาจบใหม่ บุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นต้น  เพราะมักกดดันตัวเอง เมื่อได้รับคำชมจะรู้สึกเหมือนได้รับความคาดหวัง ทำให้คิดว่าการที่มีผู้คนมาชื่นชมเราเพราะต้องการผลประโยชน์ 

อาการ

จะมีอาการหลากหลายทั้งรูปแบบขอนิสัยประจำตัวหรืออาการ ความรู้สึก เช่น 

1. มีนิสัยรักความสมบูรณ์แบบต้องการให้ทุกสิ่งออกมาเรียบร้อย มักหงุดหงิดเมื่อผิดแผน มาตรฐานสูง และมักจมปลักกับข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ 

2. กดดันตัวเองทำให้ไม่พอใจในผลงานของตัวเอง

3. ชอบทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ชอบพึ่งพาใคร เพราะกลัววจะถูกว่าเป็นคนไม่มีความสามาถ

การรักษา

ยอมรับว่าตนเองรู้สึกอย่างไร และเปิดใจกับคนรอบข้างและคำชื่นชมต่าง ๆ ที่ได้รับ เปลี่ยนวิธีคิดว่าทุกคนย่อมเกิดความผิดพลาดได้ ไม่มีอะไรในโลกสมบูรณ์แบบ อีกทั้งควรมีเพื่อนสักคนไว้คอยรับฟังความรู้สึกเพื่อคอยให้กำลังใจเรา

ทั้งนี้การรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ  เพราะทำให้เราสามารถรับมือกับความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกวิธี ซึ่งแต่ละคนจะมีการรับมือกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองแตกต่างกันไป การยอมรับความรู้สึกและซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะสุขภาพจิตใจของเราเป็นสิ่งที่ควรได้รับการทะนุถนอมที่สุด สรรหาจึงขอเป็นกำลังใจและส่งต่อพลังบวกให้กับเพื่อน ๆ ชาวสรรหาที่ได้อ่านบทความนี้นะคะ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพใจแข็งแรงและมีรอยยิ้มในทุก ๆ วัน :)

 



ผู้เขียน :

fashionista คืองานหลัก content editor คืองานรอง
Momint

fashionista คืองานหลัก content editor คืองานรอง

ออกแบบกราฟิก :

จริงๆ ชื่อ แจ้ ไม่ได้ชื่ออ้อม
แจ้

จริงๆ ชื่อ แจ้ ไม่ได้ชื่ออ้อม